f
title
แขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1
UTTARADIT 1 HIGHWAY DISTRICT
วิสัยทัศน์ : “ ทางหลวง สะดวก ปลอดภัย ตอบสนองความพึงพอใจของผู้ใช้ทาง ”
พิธีลงนามความร่วมมือนำยางพารามาเป็นวัสดุเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ช่วยเกษตรกรสวนยาง
ลงวันที่ 12/06/2563

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือนำยางพารามาเป็นวัสดุเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ ช่วยเกษตรกรสวนยาง
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนลงนาม และมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายอนันต์ สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ณ ทำเนียบรัฐบาล
รัฐบาลโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อลดการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวง ขณะเดียวกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ จึงได้มุ่งเน้นให้ใช้น้ำยางพาราเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้างทาง เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง กระทรวงคมนาคม โดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนด้วยการใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลัก ซึ่งจากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ซึ่งได้รับการทดสอบการชนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าสามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินงานนำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 อย่าง มาใช้ติดตั้งบนถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบททั่วประเทศ ภายในปี 2563 - 2565 แบ่งเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 1,063,651 ต้น ใช้น้ำยางพาราในปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 71% หรือคิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจะได้รับโดยตรง เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต
ของเกษตรกรไทย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุนเครื่องมือรวมถึงวัตถุดิบในการผลิตโดยให้สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างเท่าเทียม จึงนำมาสู่การทำบันทึกความร่วมมือการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับข้อตกลงความร่วมมือฯ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะศึกษาและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา รวมถึงทำการทดสอบเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ และการจัดทำแบบมาตรฐานและข้อกำหนดคุณสมบัติของวัสดุ การจัดทำแผนงานและการกำหนดความต้องการการใช้ยางตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการรับซื้อผลิตภัณฑ์ และนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้ง ใช้งบประมาณ 85,624 ล้านบาท โดยใช้ยางพาราสดปริมาณ 1,007,951 ตัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,108 ล้านบาท
ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบ ให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพารา 661 แห่ง โดยปีที่ผ่านมามีการผลิตยางพารารูปแบบต่าง ๆ ประมาณ 475,058 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 57 จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพสวนยางพารารวม 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1,420,724 ราย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร ทั้งในการด้านพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต โดยพร้อมผลักดันเกษตรกรชาวสวนยางไทยให้ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตให้แก่สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง
ความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ นอกจากจะลดความสูญเสีย สร้างผลตอบแทนเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางไทย ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน


'